วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สรุปสาระสำคัญ มาตรฐานวิชาชีพครู

มาตรฐานวิชาชีพครู
          รองศาสตราจารย์ ดร.เมธี ปิลันธนานนท์*  สารานุกรมวิชาชีพครู  เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ พรรษา หน้า ๓๑๑๓๑๗
          ทุกวิชาชีพย่อมต้องมีมาตรฐานของวิชาชีพนั้น เพื่อวัด หรือประมาณค่าผู้ปฏิบัติการวิชาชีพ ตามมาตรฐานด้านความรู้ ทักษะ และประสบการณ์วิชาชีพ ซึ่งมาตรฐานด้านความรู้ก็ดี มาตรฐานด้านประสบการณ์และทักษะวิชาชีพก็ตาม จะต้องถูกกำหนดขึ้นโดยองค์กร หรือสมาคมวิชาชีพของแต่ละวิชาชีพ ดังตัวอย่าง เช่นอาชีพด้านกฎหมายก็มีสภาทนายความ อาชีพด้านสถาปัตยกรรมก็มีสถาปนิกสมาคม อาชีพทางด้านการแพทย์ก็มีแพทยสภา อาชีพด้านการพยาบาลก็มีสมาคมการพยาบาลหรืออาชีพด้านการศึกษาก็มีคุรุสภา เป็นผู้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพของตนตามความมุ่งประสงค์ดังกล่าวข้างต้น การที่องค์กรด้านวิชาชีพต่างๆ ได้กำหนดให้มีมาตรฐานวิชาชีพของตน ถือเป็นภาระหน้าที่เพื่อความมุ่งประสงค์ในการรักษา ส่งเสริม และพัฒนาอาชีพของตนให้มีมาตรฐานสูงที่สุด โดยให้ผู้ปฏิบัติการ ผู้รับบริการ ผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชนได้เห็นความสำคัญของการอาชีพนั้นๆ และเพื่อให้การอาชีพนั้นๆ สามารถคงอยู่ได้ด้วยความมีคุณค่า เป็นที่ยอมรับนับถือและได้รับการยกย่อง
          สำหรับวิชาชีพทางการศึกษานั้น คำว่า มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการศึกษาเป็นทั้งการสร้าง การพัฒนา รวมทั้งการเสริมให้บุคคลมีคุณภาพ มีศักยภาพ ที่จะเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของชุมชน สังคม และประเทศ หากมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาไม่มีมาตรฐาน หรือมาตรฐานต่ำ ก็ย่อมเป็นตัวบ่งชี้ชัดเจนว่า ระบบการศึกษาจะสร้างหรือพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพที่จะมีชีวิตที่ก้าวหน้าและเป็นสุขได้ยากลำบาก ในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีสมาคมวิชาชีพด้านการศึกษาดูแลเรื่องมาตรฐานการอาชีพของครู และของผู้บริหารที่เรียกว่า “Professional Standard Boards” (KY: Education Professional Standards Board Website: available at,file//G:\Prostan10.htm) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษานั้นมีความสำคัญ นอกจากนั้นก็จะมีคณะกรรมการวิชาชีพทางการศึกษาในแต่ละเขต แต่ละท้องที่ และแต่ละรัฐ เพื่อความพยายามให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถึงมาตรฐานขั้นต่ำของวิชาชีพ เป็นต้น ส่วนมาตรฐานวิชาชีพการศึกษาของประเทศไทย ก็ได้ถูกกำหนดขึ้นโดยคุรุสภา ซึ่งการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวได้ผ่านการศึกษาค้นคว้าทั้งในรูปของการวิจัย และใช้ประโยชน์ผลการวิจัย การศึกษาเอกสารการประชุมสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ และอื่นๆ เพื่อประมวลข้อมูลมากำหนดเป็น มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาเช่นนี้เป็นต้น
          มาตรฐานวิชาชีพ หมายถึง จุดมุ่งหมายหลักทีจะสร้างแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความมั่นใจมนวิชาชีพของผู้ปฏิบัติ เพื่อให้การปฏิบัติงานอาชีพมีคุณภาพสูงสุด (CIPD-Professional Standard: available at, file://G:\ProfStand11.html) โดยความหมายดังกล่าว วิชาชีพใดๆ ย่อมให้บริการแก่สาธารณชน หรือองค์กรต่างๆ โดยต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญเฉพาะ โดยมีมาตรฐานในการประกอบกอาชีพที่ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องได้รับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเพียงพอก่อนที่จะประกอบอาชีพ
          วิชาชีพที่มีมาตรฐาน จึงได้รับการยกย่องให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงเพราะผู้ประกอบวิชาชีพ นอกจากต้องมีความรู้และทักษะในวิชาชีพแล้วยังต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะเกี่ยวข้องกับผู้รับบริการและสาธารณชน จึงต้องมีการควบคุมการประกอบวิชาชีพเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความมั่งใจต่อผู้รับบริการและสาธารณชน โดยผู้ประกอบวิชาชีพต้องประกอบวิชาชีพด้วยวิธีการแห่งปัญญา ได้รับการศึกษาอบรมมายาวนานเพียงพอ มีอิสระในการใช้ชีวิตตามมาตรฐานวิชาชีพ และมีจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งต้องมีสถาบันวิชาชีพหรือองค์กรวิชาชีพที่เป็นแหล่งกลางในการสร้างสรรค์และจรรโลงวิชาชีพด้วย
          สำหรับความหมายของคำว่า มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา มีความหมายที่เป็นอาชีพชั้นสูงเช่นเดียวกับอาชีพชั้นสูงอื่นๆ เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ทนายความ พยาบาล และอื่นๆ แต่ที่มีความต่างที่สำคัญก็เพราะมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณภาพที่พึงประสงค์ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดคุณภาพในการประกอบวิชาชีพ สามารถสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้แก่ผู้รับบริการจากวิชาชีพได้ว่า เป็นบริการที่มีคุณภาพ และตอบสังคมได้ด้วยว่า การที่กฎหมายให้ความสำคัญกับวิชาชีพทางการศึกษา และกำหนดให้เป็นวิชาชีพควบคุมโดยต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั้น เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะเฉพาะ ต้องใช้ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญในการประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๔๙ ได้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาไว้ ๓ ด้าน คือ (มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา :สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ๒๕๔๘: ๔) เช่น 

มาตรฐานวิชาชีพครูมีความหมายครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ คือ
๑.มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพครู มาตรฐานข้อนี้ ประกอบด้วย มาตรฐาน ๒ ส่วน ได้แก่
          มาตรฐานความรู้ หมายถึง ข้อกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู มีคุณวุฒิทางการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยต้องมีสาระความรู้และสมรรถนะตามมาตรฐานในเรื่องต่อไปนี้
                    - ภาษาและเทคโนโลยีสำหรับครู
                    - การพัฒนาหลักสูตร
                    - การจัดการเรียนรู้
                    - จิตวิทยาสำหรับครู
                   - การวัดและประเมินผลการศึกษา
                   - การบริหารจัดการในห้องเรียน
                   - การวิจัยทางการศึกษา
                   - นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา
                   - ความเป็นครู
          มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพครูจะต้องผ่านการฝึกทักษะและสมรรถนะของวิชาชีพครูในด้านการปฏิบัติการสอน รวมทั้งทักษะและสมรรถนะด้านการสอนสาขาวิชาเฉพาะในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ดังนี้
                   - การฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน
                   - การฝึกปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะ
๒. มาตรฐานการปฏิบัติงาน มีความหมายครอบคลุมมาตรฐานย่อยๆ ของการปฏิบัติงาน ๑๒ ประการด้วยกัน คือ
                   - ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครูอยู่เสมอ
                   - ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดแก่ผู้เรียน
                   - มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพ
                   - พัฒนาแผนการสอนให้สามารถปฏิบัติได้เกิดผลจริง
                   - พัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ
                   - จัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยเน้นผลถาวรที่เกิดแก่ผู้เรียน
                   - รายงานผลกรพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างมีระบบ
                   - ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีกับผู้เรียน
                   - ร่วมมือกับผู้อื่นในสถานศึกษาอย่างสร้างสรรค์
                   - ร่วมมือกับผู้อื่นในชุมชนอย่างสร้างสรรค์
                   - แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา
                   - สร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในทุกสถานการณ์ 
๓. มาตรฐานการปฏิบัติตน  หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับความประพฤติของผู้ปฏิบัติวิชาชีพ จะต้องประพฤติปฏิบัติตามจรรยาบรรณของมาตรฐานวิชาชีพครู ๕ ประการดังต่อไปนี้
          - จรรยาบรรณต่อตนเอง
          - จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
          - จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ
          - จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ
          - จรรยาบรรณต่อสังคม 

พื้นฐานและแนวคิด
          โดยพื้นฐานและแนวความคิดความเชื่อของการมีมาตรฐานวิชาชีพ มิใช่มีไว้เพื่อมุ่งในการควบคุมหรือกำกับผู้ประกอบวิชาชีเท่านั้น หากแต่ยังมีพื้นฐานของความคิดความเชื่ออีกบางประการคือ 
                   - เป็นมาตรการของการให้ความสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อสามารถพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพเป็นทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่มบุคคล
                   - เป็นมาตรฐานที่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถเลื่อนตำแหน่งวิชาชีพ เพิ่มคุณวุฒิ คุณภาพ คุณสมบัติ รวมทั้งทักษะและเจตคติในการประกอบวิชาชีพ
                   - เป็นมาตรการที่จะเพิ่มมาตรฐานในระดับวิชาชีพที่ทำอยู่ในด้านความรู้ความเข้าใจ และสมรรถนะของบุคคลให้มีความเป็นมืออาชีพในวิชาชีพยิ่งขึ้น เป็นต้น
          มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษานั้น นอกจากเป็นมาตรฐานวิชาชีพที่ต้องประกอบวิชาชีพเพื่อบริการต่อสาธารณชนตามบริบทของวิชาชีพชั้นสูงทั่วไปแล้ว ยังต้องมีการปฏิบัติการวิชาชีพที่เกี่ยวกับบทบาทสำคัญต่อสังคมและความเจริญของประเทศที่สำคัญด้วยคือ (มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ๒๕๔๘: ๑)
                   - สร้างพลเมืองดีของประเทศ โยให้การศึกษาขึ้นพื้นฐานที่ประเทศต้องการ
                   - พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
                   - สืบทอดวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามขงอชาติ จากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อรักษาความเป็นชาติไว้ให้มั่นคงและยาวนาน 

การนำไปประยุกต์ใช้
          เพื่อให้มีการรักษามาตรฐานวิชาชีพ เพื่อคงความสำคัญของวิชาชีพ ทุกวงการวิชาชีพจึงมีกลยุทธ์ในการใช้และปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพในรูปแบบและวิธีการที่ต่างๆ กัน ขึ้นกับแต่ละสถาบัน องค์กร สมาคม หรือสภาวิชาชีพต่างๆ ตัวอย่างเช่นที่ (The Royal College of Anaesthetists, available at,mhtml: //G\ProfStand12.mht) ได้เน้นที่มาตรฐานวิชาชีพของตน ในการบริการที่ให้ผู้เรียนและสังคมที่ดีที่สุด ทั้งในระดับการบริการภายในและภายนอกสถาบัน ภาควิชาและหน่วยงานต่างๆ เช่น การสร้างหน่วยงานเป็นลักษณะคลีนิกที่ให้บริการที่หลากหลาย มีการตั้งหน่วยงานให้คำปรึกษาสาขาวิชาต่างๆนอกสถาบันทั่วประเทศ เพื่อให้บริการเชิงของการเป็นที่ปรึกษา ซึ่งสำนักระเมินคุณภาพได้ประเมินให้เป็นสถาบันที่ได้รับการยกย่องเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงกล่าวได้ว่าการประยุกต์ใช้มาตรฐานวิชาชีพ ย่อมขึ้นกับความต่างของวิชาชีพ ความต่างของขอบเขตการใช้มาตรฐานด้วย
          สำหรับการใช้มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาก็ย่อมมีความต่างกันเช่นที่กล่าวข้างบนนี้เช่นกัน นอกนั้น ยังต้องขึ้นกับแนวความคิดความเชื่อของการกำหนดและการใช้มาตรฐานวิชาชีพที่มีความต่างระดับการศึกษา เช่น ระดับอนุบาลศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานการศึกษา ระดับการอาชีวศึกษา และระดับการอุดมศึกษาเป็นต้น อย่างไรก็ดีในฐานะที่คุรุสภามีความเกี่ยวข้องกับครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคคลอื่นทางการศึกษาทั่วประเทศ ก็ได้มีการดำเนินการหรือปฏิบัติการตามมาตรฐานการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นวิชาชีพควบคุม ที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดและเงื่อนไขของคุรุสภา ดังนี้ (มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา : สำนักงานเลขาธิการคุรสภา ๒๕๔๘ : ๓)
        - ต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพ โดยยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่คุรุสภากำหนด ผู้ไม่ได้รับอนุญาต หรือสถานศึกษาที่รับผู้ไม่ได้รับใบอนุญาตเข้าประกอบวิชาชีพควบคุมในสถานศึกษา จะได้รับโทษตามกฎหมาย
        - ต้องประพฤติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำรงไว้ซึ่งความรู้ความสามารถ และความชำนาญการตามระดับคุณภาพของมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ
        - บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพ มีสิทธิกล่าวหา กรรมการคุรุสภา กรรมการมาตรฐานวิชาชีพ และบุคคลอื่นมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพที่ประพฤติผิดจรรยาบรรณได้
        - เมื่อมีการกล่าวหาหรือกล่าวโทษ คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพอาจวินิจฉัยชี้ขาดให้ยกข้อกล่าวหา/กล่าวโทษ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ และผู้ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ และผู้ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตไม่สามารถประกอบวิชาชีพต่อไปได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น